เดินหน้า แลหลัง’ จีน กับพลังแห่งการพัฒนา ที่พร้อมพาเพื่อนมิตรร่วมทาง

 


“ในที่นี้ มีใครบ้างที่เป็นลูกหลาน หรือเชื้อสายชาวจีน ?”

 

หลังคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ได้ถามคำถามข้างต้นแก่คนในฮอลล์ ภาพที่คนแทบทั้งหมดต่างยกมือแสดงตัวก็ปรากฏขึ้นอย่างน่าขนลุก

 

“ต้นตระกูลของใครหลายคนในที่นี้ ก็อาจจะยังฝากร่างฝังไว้ที่ผืนแผ่นดินจีน นี่คือสิ่งที่ยืนยันคำกล่าวในทำนองว่า ‘จีน-ไทย ใช่อื่นไกลพี่น้องกัน’ มิใช่เพียงคำพูด หากแต่กลั่นออกมาจากหัวใจ”

 

คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวต่อ เพื่อย้ำว่าสิ่งที่ดูเหมือนจับต้องไม่ได้ คือความจริงที่หนักแน่น

 

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2567 ณ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณหญิงสุดารัตน์ ได้กล่าวเปิดหลักสูตร China Business Leader หรือ CBL รุ่นที่ 1 และเผยถึงถึงวัตถุประสงค์สำคัญของการจัดทำหลักสูตร ว่าเกิดขึ้นจากความต้องการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชน และนักธุรกิจกับนักธุรกิจด้วยกัน เพื่อความร่วมมือในการทำงานให้ประสบความสำเร็จ โดยหวังให้นักธุรกิจผู้เข้าอบรมในหลักสูตร CBL กว่า 60 คน ทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นใหม่ ทั้งชาวไทยและชาวจีน ก้าวไปสู่จุดหมายปลายทางทางธุรกิจ และเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนากระชับความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ไทย ให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ทั้งสองประเทศเป็นคู่ค้าทางธุรกิจกันต่อไป ก่อนจะบรรยายถึงเป้าหมายการพัฒนาประเทศของผู้นำจีน

 

 

 

เพื่อให้ผู้ร่วมอบรมมองเห็นถึงภาพรวมของยุทธศาสตร์ดังกล่าว คุณหญิงสุดารัตน์ ได้หยิบยกความประทับใจต่อถ้อยแถลงที่แสดงถึงวิสัยทัศน์แห่งการพัฒนาประเทศของประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ท่านสี จิ้นผิง (China’s President Xi Jinping) ในการประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPC) ครั้งที่ 20 เกี่ยวกับยุคสมัยแห่งการพัฒนารูปแบบใหม่ของจีน ที่ว่า

 

“เพื่อสร้างประเทศสังคมนิยมสมัยใหม่ในทุกมิติ…จะไม่มีอะไรมาหยุดยั้งความก้าวหน้าของจีนได้”

 

พร้อมขยายความว่า จีนจะเคลื่อนไหวเร็วขึ้นเพื่อสร้างเศรษฐกิจสมัยใหม่ โดยจะเพิ่มผลิตภาพการผลิตภาพรวม (Total Factor Productivity: TFP) ทำให้อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานมีความสามารถในการปรับตัวและมั่นคงยิ่งขึ้น โดยเน้นส่งเสริมการพัฒนาเมืองและชนบทแบบบูรณาการประสานกัน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ จีนจะปรับเปลี่ยนระบบอุตสาหกรรมให้ทันสมัย เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านการผลิต ทั้งคุณภาพของผลิตภัณฑ์ การขนส่ง ไซเบอร์สเปซ การพัฒนาทางดิจิทัล รวมถึงการบินและอวกาศ

 

 

คุณหญิงสุดารัตน์ ยังได้ฉายภาพให้ผู้เข้าอบรมเห็นรูปธรรม อันเป็นผลสัมฤทธิ์ของวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของท่านสี จิ้นผิง ซึ่งประกอบขึ้นจากการลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง และการปราบปรามคอร์รัปชัน ส่งผลให้จีนบรรลุเป้าหมายสำคัญจนเป็นที่ประจักษ์ 3 ประการด้วยกัน กล่าวคือ

 

ประการแรก จีนสามารถขจัดความยากจนได้อย่างรวดเร็วและเด็ดขาด โดยเห็นได้จากสถิติของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI : The Board of Investment of Thailand) ที่แสดงให้เห็นว่า การลงทุนของจีนในประเทศไทยในไตรมาสแรกของปี พ.ศ. 2567 ได้เติบโตขึ้นเป็น 199% นั่นแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลจีนสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนได้ตามคำมั่นสัญญา

 

ประการที่สอง เทคโนโลยีจีนกลายเป็นอนาคตของโลก จีนกำลังก้าวกระโดดมาเป็นประเทศอันดับ 1 ด้านเทคโนโลยี โดยในปี 2020 นั้น มูลค่าการตลาดของบริษัทเทคโนโลยีจีนสูงถึง 33% ของทั่วโลก ซึ่งท่านสี จิ้งผิงได้ตั้งเป้าหมายเพื่อให้จีนบรรลุการเป็นประเทศเศรษฐกิจทันสมัย พร้อมเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของโลกภายในปี 2035  อีกทั้งยังมีเป้าหมายในการทำธุรกิจแบบ eco friendly ลดการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อการเจริญเติบโตที่ยั่งยืน 

 

ประการที่สาม จีนเชื่อมโลกด้วย “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI) หรือโครงการเส้นทางสายไหมทางบกและเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 ด้วยรถไฟความเร็วสูงทางบก ทางอากาศ และทางทะเล ซึ่งเป็นการขยายโอกาสทางการค้า ดังที่ ฯพณฯ หาน จื้อเฉียง (H.E. Mr. Han Zhiqiang) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ได้กล่าวถึงการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนาคต ที่จะทำให้ประเทศไทยเป็น Hub เชื่อมต่อการคมนาคมในภูมิภาค เชื่อมจีนกับอาเซียน และเชื่อมอาเซียนกับโลก

 

 

จีนจะมุ่งส่งเสริมประชาคมของมนุษยชาติที่มีอนาคตร่วมกัน

 

อาจกล่าวได้ว่า สิ่งที่น่าชื่นชมอย่างยิ่งในถ้อยคำของท่านสี จิ้นผิง ที่คุณหญิงสุดารัตน์ หยิบยกมาบรรยาย คือการมองหาสันติให้กับโลก และมองเห็นเพื่อนร่วมโลกเป็นญาติ ดังคำประกาศว่า 

 

“จีนจะไม่ครองโลก เพราะโลกต้องการความยุติธรรม

จีนจะไม่เติบใหญ่คนเดียว แต่จะพาเพื่อนมิตรร่วมเดินไปด้วยกัน” 

 

โดยจีนจะมุ่งส่งเสริมประชาคมของมนุษยชาติที่มีอนาคตร่วมกัน โดยการยึดมั่นใน 5 หลักการของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ (Five Principles of Peaceful Coexistence) อันประกอบไปด้วย

1) เคารพในอธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดนของกันและกัน

2) ไม่รุกรานกัน

3) ไม่แทรกแซงกิจการภายใน

4) ร่วมมืออย่างเท่าเทียม และเกิดประโยชน์ซึ่งกันและกัน

5) อยู่ร่วมกันอย่างสันติ

 

นั่นแสดงให้เห็นว่า จีนมีความหนักแน่นในการแสวงหามิตรภาพและความร่วมมือกันระหว่างประเทศ การเปิดกว้าง ขยายโอกาสการเป็นหุ้นส่วนทางการค้าในระดับประเทศและระดับภูมิภาค บนพื้นฐานของความเท่าเทียม เสมอภาค และการแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ร่วมกัน

 

“สอดคล้องกับคำกล่าวของท่านหาน จื้อเฉียง ที่ได้เน้นย้ำหลายครั้งถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของจีนและไทย อันเป็นแนวคิดที่ท่านสี จิ้นผิง ต้องการสร้างประชาคมของมนุษยชาติที่มีอนาคตร่วมกัน ในการแบ่งปันโอกาสการพัฒนาร่วมกันกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศไทย ให้มีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง เพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าร่วมกัน”

 

คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว ก่อนจะฝากฝังผู้อบรม CBL รุ่นที่ 1 แก่ท่านหาน จื้อเฉียง และสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ให้ความกรุณาช่วยชี้แนะ สนับสนุน และส่งเสริมนักธุรกิจของหลักสูตร ให้มีโอกาสในการทำงานร่วมกัน ขยายธุรกิจให้ประสบความสำเร็จร่วมกัน และสานต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและจีน ให้แน่นแฟ้นต่อไป