ดร.ณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน ให้เกียรติมาบรรยายในหัวข้อ “นำทัพสินค้าไทยบุกตลาดจีน” แก่ผู้อบรมหลักสูตร China Business Leader หรือ CBL รุ่น 2 ในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2567 ณ สถาบันสร้างอนาคตไทย (FFIT)
โดย ดร.ณรงค์ศักดิ์ ได้ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยและจีน กล่าวคือ จีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยที่ยาวนานติดต่อกันมากว่า 12 ปี โดยจีนเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าของไทยอันดับ 1 และเป็นตลาดการส่งออกอันดับ 2 ซึ่งตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงสิงหาคม พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมานั้น ไทย-จีนมีมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 86,842 ล้าน USD โดยมีอัตราการเติบโตกว่า 3.6%, มูลค่าการส่งออก 31,805 ล้าน USD (-6.4%), มูลค่าการนำเข้า 55,036 ล้าน USD (+10.5) และดุลการค้า -23,231 ล้าน USD
กระนั้น แม้ว่าไทยจะขาดดุลการค้ากับจีน แต่สินค้าไทยกลับมีศักยภาพในตลาดจีนเป็นอย่างมาก หากอิงตามโครงสร้างการส่งออกของสินค้าไทยจะเห็นได้ว่า ไทยส่งออกสินค้าการเกษตรกว่า 32.6% สินค้าอุตสาหกรรม 59% และสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร 6.4% ซึ่งสินค้าส่งออกที่สำคัญ คือ ผลไม้สด ผลไม้แช่เย็น ผลไม้แช่แข็งและผลไม้อบแห้ง ผลิตภัณฑ์จากยาง ยางพารา ผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์จากไม้ เป็นต้น กล่าวได้ว่าไทยได้ส่งออกสินค้าเกษตรกรรมไทยกว่า 40% ไปยังตลาดจีน
ดร.ณรงค์ศักดิ์ ชี้ให้เห็นว่า ผู้ประกอบการไทยยังมีโอกาสอีกมากในการขยายธุรกิจและสินค้าเข้าสู่ตลาดจีน ซึ่งในปี พ.ศ. 2567 นี้ รัฐบาลจีนได้อนุญาตให้มีการนำเข้าผลไม้สดจากไทย 22 ชนิดและผลไม้แปรรูปจากไทยอีก 31 ชนิด ผ่านช่องทางการขนส่งทางบกและทางน้ำหลายช่องทาง โดยด่านทางบกในฝั่งไทยจะมีทั้งหมด 6 ด่าน คือ ด่านเชียงของ ด่านบึงกาฬ ด่านนครพนม ด่านมุกดาหาร ด่านบ้านผักกาด (จันทบุรี) ด่านหนองคาย และในส่วนของฝั่งจีนจะมีทั้งหมด 10 ด่านในมณฑลยูนนานและในเขตกว่างซีจ้วง ทั้งนี้ ในวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ด่านขนส่งทางเรือ “ท่าเรือกวนเหล่ย” ได้เปิดใช้งาน ทำให้การขนส่งผลไม้จากประเทศในเอเชียใต้ เอเชียตะวันออก และไทยมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีข้อตกลงทางการค้าที่ทำให้การค้าขายระหว่างไทย-จีนมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่ผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลจีนต้องปรับลดภาษีลงมาอยู่ที่ 0% ให้กับสินค้าไทยกว่า 29,891 รายการจากจำนวนทั้งหมด 39,366 รายการ
6 กลุยทธ์การเจาะตลาดจีนในแบบหอการค้าไทย
ดร.ณรงค์ศักดิ์ ยังแนะนำแนวทางการเจาะตลาดจีนทั้งทางออนไลน์และทางออฟไลน์แก่ผู้อบรม CBL รุ่น 2 ทั้ง 6 ประการด้วยกัน กล่าวคือ
ประการแรก ทำความรู้จักตลาดจีน โดยต้องเข้าใจข้อมูลพื้นฐานสำคัญ กล่าวคือ ในปัจจุบันจีนเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก (30%) และเป็นผู้ส่งออกสินค้ารายใหญ่ของโลก (ส่วนแบ่ง14.2%) ทั้งนี้ จีนได้วางเป้าหมายในการสร้างความร่วมมือทางการค้า (FTA) กับนานาประเทศให้ได้ถึง 40% และกำหนดเป้าหมายว่าจะนำเข้าสินค้าจากทั่วโลก ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 17 ล้านล้าน USD ภายในปี พ.ศ. 2573 ให้ได้
ประการที่สอง เข้าใจแนวโน้มการบริโภคของคนจีน โดยคนจีน 1 คนจะมีอำนาจในการซื้อคิดเป็น GDP ต่อหัวเป็น 13,136 USD หรือ 255,800 บาท ซึ่งคนจีนมีพฤติกรรมการบริโภคสินค้าตามอารมณ์ (Emotional Consumption) ให้ความสำคัญกับสินค้าที่มีคุณภาพ และนิยมซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์ โดยอาจประมาณประชากรอินเทอร์เน็ตได้กว่า 1,092 ล้านคน
ทั้งนี้ การวางกลุ่มเป้าหมายโดยพิจารณาถึงรายได้ของผู้บริโภคในมณฑลหรือมหานครก็มีความสำคัญ โดยเมืองและมณฑลที่ผู้บริโภคมีรายได้สุทธิส่วนบุคคลเฉลี่ยต่อคนสูงสุด 5 อันดับแรก คือ เซี่ยงไฮ้, ปักกิ่ง, เจ้อเจียง, เจียงซู, และเทียนจิน ในส่วนของมณฑล มหานคร หรือเขตปกครองพิเศษในภาคกลางและภาคตะวันตกของจีนที่ผู้บริโภคมีรายได้สุทธิส่วนบุคคลสูงสุด 5 อันดับแรก คือ ฉงชิ่ง, มองโกเลียใน, อานฮุย, หูหนาน, และหูเป่ย
ประการที่สาม เข้าใจกฎระเบียบการนำเข้าเบื้องต้น โดยระเบียบสำคัญที่ควรรู้ คือ
- ระเบียบว่าด้วยการขึ้นทะเบียนผู้ผลิตอาหารนำเข้าจากต่างประเทศ หรือ GACC ซึ่งเป็นการขึ้นทะเบียนผู้ผลิตอาหาร โดยแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ กลุ่มสินค้าที่ต้องขึ้นทะเบียนผ่านหน่วยงานกำกับดูแล (CA) ของไทย สำหรับ 18 กลุ่มสินค้า และกลุ่มสินค้าที่ขึ้นทะเบียนโดยตรงกับ GACC สำหรับสินค้านอกเหนือจาก 18 กลุ่ม
- การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในจีน และควรจดลิขสิทธิ์การออกแบบบรรจุภัณฑ์ หรือ R ซึ่งผู้ประกอบการสามารถยื่นขอรับความคุ้มครองเครื่องหมายการค้าไปยัง สนง. เครื่องหมายการค้าแห่งชาติจีนได้ และในส่วนของผู้ประกอบการต่างชาติที่ไม่มีสถานที่ประกอบธุรกิจในจีนจะต้องจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าผ่านสำนักงานตัวแทนตามที่ สนง.เครื่องหมายการค้าแห่งประเทศจีนกำหนดไว้เท่านั้น
ทั้งนี้ กลุ่มสินค้า 18 กลุ่มที่ต้องขึ้นทะเบียนผ่านหน่วยงานกำกับดูแล (CA) ของไทย ได้แก่ เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์, รังนกและผลิตภัณฑ์จากรังนก, ผลิตภัณฑ์จากข้สฃาวสาลีสำเร็จรูป, ผลิตภัณฑ์ไส้บรรจุไส้กรอก, ผลิตภัณฑ์จากผึ้ง, เมล็ดธัญพืชสำหรับการบริโภค, ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ, ไข่และผลิตภัณฑ์จากไข่, ผลิตภัณฑ์เมล็ดธัญพืชบดและมอลต์, ผลิตภัณฑ์นม, น้ำมันและไขมันสำหรับการบริโภค, ผักสดและผักอบแห้ง, เครื่องปรุงรส, ถั่วเปลือกแข็งและเมล็ดพืช, ผลไม้แห้ง, กาแฟและเมล็ดโกโก้ที่ยังไม่ผ่านการคั่ว, อาหารสำหรับวัตถุประสงค์พิเศษ, และอาหารเพื่อสุขภาพ
ประการที่สี่ การเจาะตลาดจีนทางออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์ม E-Commerce ข้ามพรมแดน (CBEC) ซึ่งเป็นตลาดที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีและพิธีการศุลกากรที่ราคาถูกและสะดวกกว่าการค้าแบบปกติ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังสามารถเลือกทำการค้าในเขตนำร่อง CBEC ที่มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการส่งออกสินค้าของจีน เพื่อจำหน่ายในแพลตฟอร์มออนไลน์ในต่างประเทศ และส่งเสริมการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาจำหน่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ของจีน ทั้งนี้ เขตนำร่อง CBEC มีจำนวน 165 แห่ง ครอบคลุมกว่า 31 มณฑลทั่วประเทศ โดยปัจจุบันมีนิคมอุตสาหกรรม CBEC กว่า 690 แห่ง และผู้ประกอบการ CBEC กว่า 200,000 ราย
ผู้ประกอบการที่นำสินค้าเข้าผ่านแพลตฟอร์ม CBEC เช่น Tmall Global, Koala, JD Worldwide, VIP International, XiaoHongshu, Suning, และ Pinduoduo สามารถนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาเก็บในคลังสินค้าทัณฑ์บน โดยไม่ต้องผ่านพิธีการศุลกากรและยังไม่ต้องเสียภาษี จนกว่าผู้บริโภคจะสั่งซื้อสินค้า ทั้งยังสามารถส่งสินค้าจากประเทศต้นทางไปยังผู้บริโภคในประเทศจีนได้โดยตรงผ่านระบบโลจิสติกส์ ซึ่งครอบคลุมการชำระเงินและการเสียภาษีที่ร่วมมือกับแพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นเขตนำร่อง (Pilot Zone)
อย่างไรก็ตาม ข้อควรระวังสำคัญในการทำการค้าออนไลน์ คือ ก่อนเริ่มต้นทำการค้าควรจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศจีน และตรวจสอบให้แน่ชัดว่าผลิตภัณฑ์อยู่ในรายการที่จีนอนุญาตให้จำหน่ายผ่านการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน จากนั้น จึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมต่อการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน รวมทั้งหมั่นศึกษาและติดตามกฎหมาย E-Commerce ของจีนอย่างสม่ำเสมอ
ประการที่ห้า การเจาะตลาดจีนรูปแบบออฟไลน์ โดยวิธีการที่ทำให้ชาวจีนรู้จักธุรกิจและสินค้าของเราได้ดีที่สุดวิธีหนึ่ง คือ การไปร่วมจัดแสดงในงานแสดงสินค้านานาชาติสำคัญของประเทศจีน เช่น งานมหกรรมสินค้านำเข้านานาชาติของจีน (China International Import Expo : CIIE), งานแสดงสินค้านานาชาติจีนเพื่อการลงทุนและการค้า (China International Fair for Investment & Trade : CIFIT), และงานแสดงสินค้าจีน-อาเซียน เอ็กซ์โป (China-ASEAN Expo : CAEXPO) เปฺ็นต้น ซึ่งจะทำให้เราได้พบกับผู้ประกอบการ และ distributor จำนวนมากที่อาจจะกลายมาเป็น partner ทางธุรกิจได้ในอนาคต
ประการที่หก เข้าใจข้อแตกต่างระหว่างการค้าแบบปกติกับการค้าแบบ CBEC กล่าวคือ การค้าแบบปกติจะสามารถขายได้ทุกช่องทาง ทั้งการขายส่ง ขายปลีก ขายช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ ทว่าในส่วนของ การค้าแบบ CBEC จะสามารถขายได้ผ่านช่องทางออนไลน์เท่านั้น ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการรายใหม่ที่ต้องการเจาะตลาดจีน ทั้งยังสามารถใช้เป็นช่องทางในการแนะนำสินค้าและทดสอบตลาดได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ช่องทางการเจาะตลาดจีนที่สำคัญอีกหนึ่งช่องทางคือ ผ่านหอการค้า ไทย-จีน (Thai-Chinese Chamber of Commerce) ซึ่งมีบทบาทเป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ ไทย-จีนในทุกมิติ ทั้งยังส่งเสริมและสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าสู่ตลาดจีน โดยเฉพาะตลาดรายมณฑลของจีนได้
ข่าวดีอันหนึ่งก็คือ ทางหอการค้าไทยและสภาหอการค้าไทย-จีน เพิ่งประกาศร่วมกันถึงการจัดตั้ง “กลไกประสานงานและส่งเสริมธุรกิจไทย-จีนอย่างยั่งยืน” เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า ระหว่าง 2 ประเทศ เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือที่ครอบคลุมทุกมิติของธุรกิจ ทั้งในด้านการค้า การลงทุน การแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึก การแก้ไขอุปสรรคทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นระหว่างสองประเทศ พร้อมกับย้ำบทบาทสำคัญในฐานะพี่น้องที่ช่วยเกื้อกูลและพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันในทุกมิติ จึงถือเป็นโอกาสสำคัญที่จีนจะช่วยให้ไทยสามารถยกระดับสินค้าของผู้ประกอบการรายเล็กให้เข้าสู่ตลาดอันดับ 1 ของโลกอย่างจีนได้
ไม่ผิดเลย หากจะเรียกช่วงเวลานี้ว่าเป็นโอกาสทองของการติดปีกสู่แผ่นดินจีน แม้จริงว่า “ไม่ง่าย” แต่หากเราสร้างความร่วมมืออย่างหนักแน่นทั้งภาคธุรกิจด้วยกัน ไปจนถึงระดับนโยบายได้ล่ะก็.. “อะไรก็เป็นไปได้”