“รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” และ “โยนกระเบื้องล่อหยก” Roadmap การเจาะตลาดจีนให้ประสบความสำเร็จ

 

คุณสุวัฒน์ รักทองสุข CEO บริษัทเลิศ โกลบอล กรุ๊ป จำกัด และบริษัทเลิศ (หางโจว) ดิจิทัล เทคโนโลยี จำกัด, เลขานุการสมาคมการค้าส่งเสริมธุรกิจไทย-จีน และเอเชียอาคเนย์ ให้เกียรติมาบรรยายพิเศษในหัวข้อ “กลยุทธ์นำสินค้าไทยไปบุกตลาดจีนให้ประสบความสำเร็จทั้งออฟไลน์และออนไลน์” และจัด Workshop ครั้งที่ 1 เรื่อง “การเตรียมสินค้าบุกตลาด Online จีนแบบลงมือทำจริง ขายจริง” แก่ผู้อบรมหลักสูตร China Business Leader หรือ CBL

 

คุณสุวัฒน์ เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงแบรนด์เครื่องดื่มชื่อดังอันดับ 1 ของจีนอย่าง Mixue มาเป็นกรณีศึกษา เพื่อฉายให้เห็นภาพของตลาดจีนว่าเป็นตลาดการบริโภคขนาดใหญ่  การที่ Mixue ประสบความสำเร็จ มีสาขากว่า 36,000 สาขาใน 11 ประเทศนั้น มียอดขายรวม (GMV) ถึง 15.4 พันล้านหยวนใน 3 ไตรมาสได้นั้น เป็นเพราะแบรนด์มีกลยุทธดึงดูดลูกค้าสำคัญ คือ ราคาเข้าถึงง่าย (เครื่องดื่มราคาสูงสุด 7 หยวน), ดีไซน์ที่เรียบง่ายสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย, Mascot ภาพจำน่ารักๆ, และมีการสร้างเพลงประจำแบรนด์ที่ติดหู ซึ่งไทยเองก็มีแบรนด์ Butterbear ที่มีภาพลักษณ์น่าจดจำเช่นเดียวกัน

 

 

“知己知彼, 百战百胜” 

รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง

 

การเริ่มต้นโอกาสทางธุรกิจหรือต่อยอดธุรกิจในประเทศจีนให้ประสบความสำเร็จนั้น อันดับแรกเราต้องเข้าใจความต้องการของตลาดจีน ซึ่งในปี 2024 นั้น อุตสาหกรรมที่เติบโตและดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนมากที่สุด แบ่งได้เป็น 3 อุตสาหกรรม คือ

 

  1. การท่องเที่ยวขาออก  (Outbound Travel) 

ในปี 2024 มีนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางออกนอกประเทศกว่า 264 ล้านคน โดยประเทศไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยม และนักท่องเที่ยวจีน 1 คน จะมียอดค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อการเที่ยว 1 ครั้งถึง 58,236 บาท

 

  1. ตลาดความงามและผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย

เป็นตลาดที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากผู้บริโภคจีนให้ความสนใจในผลิตภัณฑ์นำเข้าที่มีคุณภาพสูง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมปลอดภัยและมีนวัตกรรมใหม่ๆ  อีกทั้ง ผู้บริโภคจีนโดยเฉพาะผู้ที่เกิดหลังปี 2000 มีความสนใจในผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานง่าย ลดขั้นตอนการบำรุงและมีคุณสมบัติที่โดดเด่น ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2568 มูลค่าตลาดความงามจะสูงถึง 3 หมื่นล้านหยวน 

 

  1. อาหารและเครื่องดื่ม

เป็นอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในตลาดจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาหารและเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น น้ำผลไม้แท้ ชาสมุนไพร และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของโปรตีนหรือวิตามิน, เครื่องดื่มพรีเมียม เช่น กาแฟนำเข้า ไวน์ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว, และเครื่องดื่มพร้อมดื่ม เช่น ชาพร้อมดื่ม กาแฟกระป๋อง และน้ำผลไม้บรรจุขวด ที่ได้รับความนิยมในกลุ่มคนทำงานและนักเรียน  ทั้งนี้ การที่รัฐบาลจีนมีนโยบายลดภาษีนำเข้าและส่งเสริมการค้าเสรีได้ช่วยให้การนำเข้าเครื่องดื่มเติบโตอย่างรวดเร็ว

 

 

“Roadmap การเจาะตลาดจีน”

 

การเจาะตลาดจีนที่มีความซับซ้อนและมีการแข่งขันสูงที่สุดในโลกอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องอาศัยการวางแผนที่ชาญฉลาด รวมถึงการปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคและสภาพเศรษฐกิจของจีน โดยแบ่งเป็น 5 ขั้นตอน ดังนี้ 

 

  1. วิจัยตลาดจีนอย่างละเอียด

เริ่มจากการทำความเข้าใจผู้บริโภคจีน ศึกษาพฤติกรรมและความต้องการ เช่น ความนิยมในผลิตภัณฑ์นำเข้า, การให้ความสำคัญกับสุขภาพ, และความสนใจในผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง  จากนั้น จึงแบ่งกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน เช่น เป็นกลุ่มชนชั้นกลาง, คนรุ่นใหม่, หรือกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง  ที่สำคัญคือ การศึกษาวิเคราะห์แบรนด์คู่แข่งที่มีอยู่ในตลาดจีน เพื่อเข้าใจถึงจุดแข็งและจุดอ่อน และกลยุทธ์ที่แบรนด์เหล่านั้นใช้

 

  1. ปรับผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับตลาดจีน

โดยปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคจีน เช่น รสชาติ, ขนาด, หรือบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม และเลือกใช้ส่วนผสมหรือวัตถุดิบที่คนจีนให้ความไว้วางใจ เช่น ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติหรือออร์แกนิก  จากนั้นจึงสร้างแบรนด์ให้โดดเด่นด้วยการพัฒนาเรื่องราวของแบรนด์ (Brand Story) ที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมจีน หรือสร้างความรู้สึกพิเศษให้กับผู้บริโภคได้

 

  1. ใช้กลยุทธ์การตลาดดิจิทัล

เริ่มต้นจากการสร้างตัวตนบนแพลตฟอร์มออนไลน์ยอดนิยมในจีน เช่น WeChat, Weibo, Douyin (TikTok), และ Xiaohongshu (RED) เพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย  จากนั้นจึงร่วมมือกับอินฟลูเอนเซอร์หรือ KOLs ที่มีอิทธิพลในกลุ่มเป้าหมาย เพื่อโปรโมตผลิตภัณฑ์และสร้างความน่าเชื่อถือ  ตบท้ายด้วยการสร้างแคมเปญที่โดดเด่นและมีความเกี่ยวข้องกับผู้บริโภค เช่น การจัดกิจกรรมออนไลน์, การแจกคูปอง, หรือการสร้างไวรัลคอนเทนต์ เป็นต้น

 

  1. เลือกช่องทางการจัดจำหน่ายที่เหมาะสม

โดยแบ่งเป็น 3 ช่องทางหลัก คือ 1) แพลตฟอร์ม E-commerce ยอดนิยม เช่น Tmall Global, JD.com, และ Pinduoduo เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคจีน สำหรับแบรนด์ที่ยังไม่มีการตั้งบริษัทในจีนนั้น ควรพิจารณาใช้ช่องทาง Cross-border E-commerce แทน  2) วางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในร้านค้าปลีกที่เน้นสินค้านำเข้า เช่น Hema (Freshippo) หรือ Ole ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภคระดับพรีเมียม  3) วางจำหน่ายช่องทางออฟไลน์สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ต้องการสร้างประสบการณ์ตรงกับผู้บริโภค เช่น การเปิด Pop-up Store หรือการจัดอีเวนต์

 

  1. สร้างความไว้วางใจในแบรนด์

ผู้บริโภคจีนให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ ดังนั้นการมีใบรับรองคุณภาพ เช่น การรับรองมาตรฐานสากล หรือการระบุแหล่งที่มาของวัตถุดิบ ซึ่งจะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือได้  นอกจากนี้ ควรตอบสนองต่อความคิดเห็นของผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่องทางออนไลน์ เช่น การตอบรีวิวใน Xiaohongshu หรือการตอบคำถามใน WeChat ซึ่งจะช่วยดึงดูดผู้บริโภคได้

 

  1. ติดตามและปรับปรุงกลยุทธ์

ใช้ข้อมูลจากการขายและการตลาดเพื่อวิเคราะห์ผลลัพธ์ เช่น พฤติกรรมการซื้อของลูกค้า, ผลตอบรับจากแคมเปญ, และยอดขายในแต่ละช่องทาง  จากนั้นค่อยปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ หรือแคมเปญการตลาด เช่น การเพิ่มโปรโมชั่น, การปรับราคาสินค้า, หรือการสร้างคอนเทนต์ใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค เป็นต้น

 

 

“抛砖引玉”

โยนกระเบื้องล่อหยก

 

คุณสุวัฒน์ ยังยกตัวอย่างแบรนด์เครื่องสำอางของจีนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในตลาดต่างประเทศ คือ แบรนด์ Florasis (花西子) ที่เน้นการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมจีนดั้งเดิม และ นวัตกรรมความงามสมัยใหม่ แม้ว่าแบรนด์จะพึ่งก่อตั้งในปี 2017 แต่ก็ประสบความสำเร็จ จนกลายเป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมความงามจีนที่สามารถสร้างชื่อเสียงและความสำเร็จในระดับนานาชาติได้อย่างน่าประทับใจ

 

ทั้งนี้ กลยุทธ์สำคัญที่ทำให้ Florasis ประสบความสำเร็จ สามารถแบ่งออกได้ 3 ประการคือ

 

  1. การนำเสนอวัฒนธรรมจีนในระดับโลก

ด้วยการใช้ “C-Beauty” หรือความงามแบบจีนเป็นจุดขายหลัก ดึงดูดผู้บริโภคต่างชาติที่สนใจในวัฒนธรรมจีนดั้งเดิม และแบรนด์ยังเน้นการเล่าเรื่องราว (Storytelling) ที่เกี่ยวข้องกับความงามในแบบตะวันออก เช่น การใช้สมุนไพรจีนที่มีประโยชน์ต่อผิว หรือการออกแบบที่ได้รับแรงบันดาลใจจากประวัติศาสตร์จีน เป็นต้น

 

  1. การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่น

Florasis ยังให้ความสำคัญกับ “ความประณีต” ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การออกแบบบรรจุภัณฑ์ไปจนถึงผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานจริง ทำให้ผู้บริโภครู้สึกถึงความพิเศษและคุณค่าของสินค้า

 

  1. การสื่อสารกับผู้บริโภคในระดับสากล 

โดยมีการตลาดที่ปรับให้เหมาะสมกับตลาดท้องถิ่น เช่น การสร้างคอนเทนต์ที่เข้าใจง่ายสำหรับผู้บริโภคในต่างประเทศ และการใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์

 

แบรนด์ไทยเองก็สามารถประสบความสำเร็จแบบ Florasis ได้ เพียงแค่ศึกษาตลาดจีนอย่างลึกซึ้งและมีการสร้างกลยุทธที่โดดเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว  อย่างไรก็ตาม การทำการตลาดจีนยังมีข้อควรระวังที่สำคัญ คือ หลีกเลี่ยงการพูดถึงประเด็นที่อ่อนไหวทางการเมือง และประวัติศาสตร์  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ ไต้หวัน, ทิเบต, ฮ่องกง, หรือ ซินเจียง เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและอาจทำให้ชาวจีนรู้สึกไม่พอใจได้

 

“จำไว้เสมอว่าไต้หวันเป็นจังหวัดของจีน ฮ่องกงและมาเก๊าเป็นเมืองของจีน หากคุณต้องการใช้แผนที่ให้ใช้แผนที่ที่ถูกต้อง”.