จงหนักแน่นในสายสายใย แล้วจีน-ไทยจะเติบใหญ่ไปพร้อมกัน

 

“ผมตื้นตันใจเป็นอย่างมาก เมื่อคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ถามผู้อบรมหลักสูตร CBL รุ่น 2 ในห้องนี้ว่า ใครมีเชื้อสายจีนบ้าง? ก่อนจะพบว่า คนแทบทั้งห้องต่างยกมือขึ้นกันอย่างพร้อมเพรียง”

 

ฯพณฯ หานจื้อเฉียง (H.E. Mr. Han Zhiqiang) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย เปิดการปฐกถาพิเศษด้วยคำกล่าวข้างต้น เผยถึงความตื้นตันใจในความสัมพันธ์ทางสายเลือดระหว่างชาวไทยและชาวจีน ทั้งยังกล่าวชื่นชมคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ถึงความตั้งใจในการก่อตั้งหลักสูตร CBL โดยเปรยว่า เป็นการสานต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนให้มีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น 

 

เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2567 ณ สถาบันสร้างอนาคตไทย (FFIT) ท่านหานจื้อเฉียงพร้อมคณะฯ  ให้เกียรติเป็นองค์ปาฐกในวันเปิดหลักสูตร China Business Leader หรือ CBL รุ่น 2 ที่มีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ เป็นประธานหลักสูตร และให้เกียรติในการบรรยายพิเศษแก่คณะผู้อบรมหลักสูตร CBL รุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ประกอบการทั้งไทยและจีนกว่า 70 ท่าน ในเรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือด้านการค้า

 

 

ท่านหานจื้อเฉียงกล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา สาธารณรัฐประชาชนจีนปกครองโดยใช้ระบบสังคมนิยมแบบจีนในการนำเศรษฐกิจ ซึ่งนำมาสู่ผลลัพธ์ที่ทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก  ความสำเร็จดังกล่าวทำให้รัฐบาลจีนต้องยึดมั่นแนวทางที่จะพัฒนาเศรษฐกิจต่อไปให้สอดคล้องกับประชาคมโลก 

 

ประเทศจีนได้พัฒนาเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ปฏิรูปเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมสู่ระบบตลาด ซึ่งมิใช่การเปลี่ยนแปลงแบบชั่วคราว ทว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อทำให้จีนมีความทันสมัย และสอดคล้องไปกับความเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน  โดยรัฐบาลจีนได้วางเป้าหมายในการสร้างความสำเร็จร่วมกับนานาอารยประเทศให้ได้ภายในปี พ.ศ.  2570 ผ่านนโยบายสำคัญกว่า 300 นโยบาย  

 

ทั้งนี้ หัวใจสำคัญคือการพัฒนาคุณภาพด้านการผลิต และการนำนวัตกรรมที่เหมาะสมมาใช้ เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาที่ทันสมัย และเท่าทันความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของโลก ด้วยเป้าหมายสำคัญนี้ รัฐบาลจีนต้องอาศัยความร่วมมือจากนานาประเทศทั่วโลก ซึ่งจีนก็จะตอบแทนความร่วมมือในการพัฒนาดังกล่าวด้วยมิตรภาพ โดยอีกไม่กี่ปีในภายภาคหน้า ประเทศจีนก็จะเปลี่ยนโฉมหน้าอีกครั้ง

 

หากย้อนกลับไปในช่วงวิกฤติการณ์โควิด 19 นั้น ประเทศจีนเองก็เผชิญหน้ากับความท้าทายทางเศรษฐกิจเฉกเช่นเดียวกันกับทุกประเทศ แต่ภายหลังจากนั้น จีนก็สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจและรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจ ให้คงเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกได้

 

 

เมื่อหันกลับมาพิจารณาถึงความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทย-จีน พบว่า ไทย-จีนต่างเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่ดีต่อกันเสมอมา เป็นคู่ค้าอันดับต้นของกันและกัน เป็นแหล่งลงทุนหลักของกันและกัน ผู้ประกอบการไทย-จีนต่างก็มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กันและกันอยู่เสมอมา ซึ่งรัฐบาลจีนรองรับสินค้าการเกษตรของไทยมากกว่า 40%  

 

โดยเฉาะอย่างยิ่ง ในช่วงปี พ.ศ. 2565-2567 ที่ผ่านมา มีภาคเอกชนของจีนที่เข้ามาลงทุนอย่างถูกต้องตามกฎหมายในไทยจำนวนมากกว่า 100 บริษัท โดยส่วนใหญ่เป็นบริษัทยานยนต์ไฟฟ้า พลังงานสะอาดสีเขียว ธุรกิจดิจิทัล และเครื่องใช้ไฟฟ้า  นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่า หากนโยบาย Free Visa มีผลสมบูรณ์ในวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2568 จะทำให้มีนักท่องเที่ยวจีนจำนวนมากเดินทางมาเยือนประเทศไทยและสร้างรายได้อย่างมหาศาล

 

ในปี 2568 ที่กำลังจะมาถึงนี้ เป็นการครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีน ในฐานะเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ท่านหานจื้อเฉียงมีความหวังว่า ไทยและจีนจะมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าที่แน่นแฟ้นมากขึ้นยิ่งกว่าเดิม และก้าวไปสู่ความรุ่งเรืองร่วมกันท่ามกลางความท้าทายใหม่ของโลก 

 

ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของโอกาสใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือทางด้านการค้าระหว่างไทย-จีน พบว่า มีโอกาสจำนวนมากที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้  เนื่องด้วย ปัจจุบัน จีนมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจสูง ด้วยขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ถึง 35 ล้านล้านดอลลาห์สหรัฐ และมี GDP ที่เติบโตขึ้นกว่า 5% รัฐบาลจีนจะใช้ความพยายามมากขึ้นเพื่อขยายขนาดเศรษฐกิจ เพื่อให้ไทยได้รับประโยชน์ร่วมกันได้มากขึ้น

 

ในด้านการคมนาคมและการขนส่งสินค้าระหว่างไทย-จีนเองก็มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะจากเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว ประกอบกับวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา รัฐบาลไทย-จีนได้ทำข้อตกลงให้สามารถขนส่งผลไม้ทางแม่น้ำได้  ยิ่งไปกว่านั้น ทางการไทย-จีนมีการเร่งสร้างทางรถไฟความเร็วสูงจากจีนสู่ไทยโดยตรง ซึ่งจะนำมาสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด

 

 

รัฐบาลจีนมีแผนกำหนดกรอบการลงทุนในประเทศไทย ซึ่งนับเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 1.5 พันล้านหยวน ซึ่งสินค้าไทยเป็นสิ่งที่นิยมในกลุ่มคนจีนมาก แต่ด้วยความที่สาธารณรัฐประชาชนจีนมีจำนวนประชากรกว่า 1,400 ล้านคน ทำให้ในบางครั้งสินค้าดีๆ จากไทยก็มีไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนจีน แต่ถึงกระนั้นผู้ประกอบการชาวจีนก็ยังคงแสวงหาโอกาสใหม่ในการทำธุรกิจร่วมกับผู้ประกอบการไทย เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น 

 

ปัจจุบัน มีภาคเอกชนของจีนจำนวนมากที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยโดยใช้ supplier ท้องถิ่นของไทย ซึ่งบริษัทเหล่านั้นบอกกันท่านหานจื้อเฉียงว่า ในหลายๆ ครั้งที่ไทยมีวัตถุดิบไม่เพียงพอที่จะรองรับการผลิต นี่จึงอาจเป็นตัวอย่างของโอกาสใหม่ๆ ของผู้ประกอบการไทย และเป็นตัวอย่างของความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรม

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาอย่างหนึ่งที่ค่อนข้างน่ากังวล คือ มีสินค้าจากจีนจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้ผ่านมาตรฐานการรับรอง หรือเป็นสินค้าผิดกฎหมายเริ่มทะลักเข้ามาในไทยเยอะมากขึ้น ซึ่งปัญหาดังกล่าว ก่อให้เกิดกระแสการต่อต้านการใช้สินค้าจากประเทศจีน และทำให้ SMEs ไทยจำนวนมากเกิดความวิตกกังวลเช่นเดียวกัน

 

 

การบอยคอตสินค้าจากจีนและการต่อต้านทุนจีนอาจไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง เพราะในความเป็นจริง การบอยคอตทางการค้าจะส่งผลกระทบต่อระบบความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจต่อทั้ง 2 ประเทศ  อีกทั้ง SMEs ไทยจำนวนมากก็พึ่งพิงสินค้าจากประเทศจีนและใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตสินค้าของตน ซึ่งทางรัฐบาลจีนเองก็เน้นย้ำถึงมาตการการปราบปรามธุรกิจที่ผิดกฎหมายอยู่เสมอมา  

 

นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงข้อเท็จจริงแล้ว สินค้าหรือผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจแบบไม่ผ่านมาตรฐานหรือผิดกฎหมายก็นับว่ามีจำนวนไม่ถึง 10% ของตลาดเศรษฐกิจไทย-จีน ในขณะที่ธุรกิจด้านสินค้าและการบริการของจีน  เช่น ร้านอาหารและบริษัททัวร์ ก็มีเพียง 1% ของจำนวนธุรกิจบริการทั้งหมดในประเทศไทยเท่านั้น 

 

ดังนั้น เราจึงไม่ควรนำปัญหาดังกล่าวมาปฏิเสธความร่วมมือระหว่างทั้ง 2 ประเทศ แต่เราควรร่วมมือกันแก้ไขปัญหา สนับสนุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่อไป และสนับสนุนให้ SMEs ของไทย มีโอกาสมากขึ้นในการพัฒนาตนเอง

 

 

“ผมเชื่อว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ไทย และความร่วมมือทางเศรษฐกิจจะมีมากยิ่งขึ้น และเราจะดำเนินความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นต่อไป”

 

ดังคำกล่าวว่า

 

“中泰一家亲 (จงไท่อี้เจียชิน) : จีน-ไทย ใช่อื่นไกล พี่น้องกัน”

 

ที่ ฯพณฯ หานจื้อเฉียง กล่าวย้ำถึงความสัมพันธ์ทางสายเลือดระหว่างไทยและจีนอยู่เสมอมา เพราะไทย-จีนเป็นทั้งเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน เชื่อมต่อกันด้วยภูเขาและแม่น้ำ “ดื่มน้ำจากแม่น้ำสายเดียวกัน” จึงทำให้ชาวไทยและชาวจีนมีความผูกพันกันแต่กำเนิด และยังมีความใกล้ชิดดุจเครือญาติเสมือนร่วมสายเลือดเดียวกัน ซึ่งสายสัมพันธ์นี้จะยังคงอยู่ตลอดไป.