“แม่น้ำเป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรมของมนุษย์ เป็นสิ่งที่มนุษย์ดื่มกินเพื่อดำรงชีพ..ชาวไทยและชาวจีนต่างก็พึ่งพิงสายน้ำจากแม่น้ำล้านช้าง จึงถือว่าพวกเรามีความผูกพันกันแต่กำเนิด”
ความข้างต้นเป็นคำกล่าวของ ฯพณฯ หานจื้อเฉียง (H.E. Mr. Han Zhiqiang) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนได้เป็นอย่างดี
ท่านหานจื้อเฉียงพร้อมคณะจากสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ให้เกียรติเป็นองค์ปาฐกในวันเปิดหลักสูตร China Business Leader หรือ CBL ที่มีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ เป็นประธานหลักสูตร พร้อมด้วย ผศ.ดร.นริศ ธรรมเกื้อกูล ผู้อำนวยการหลักสูตร และผศ.ดร.สุทธิกร กิ่งแก้ว รองผู้อำนวยการหลักสูตร ในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2567 ณ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และให้เกียรติในการบรรยายพิเศษแก่คณะผู้อบรมหลักสูตร CBL รุ่นที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ประกอบการทั้งไทยและจีนกว่า 60 ท่าน ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและจีน รวมถึงโอกาสในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
“中泰一家亲 (จงไท่อี้เจียชิน) : จีน-ไทย ใช่อื่นไกล พี่น้องกัน”
คำกล่าวข้างต้น เป็นคำที่เราต่างได้ยินกันมาเมื่อครั้งเนิ่นนาน มิใช่คำอื่นไกลแต่เพียงอย่างไร แม้ว่าราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฏาคม พ.ศ. 2518 เป็นต้นมา ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น ทว่าหากกล่าวถึงความใกล้ชิดอย่างไม่เป็นทางการแล้ว ไทย-จีนต่างมีความผูกพันกันมาอย่างแนบแน่น โดยท่านหานจื้อเฉียงได้แสดงทัศนะถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนในแง่มุมที่เราอาจไม่เคยตระหนักมาก่อนไว้ 3 ประโยคด้วยกัน
“ไทย-จีน เราทั้งสองเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน..เชื่อมต่อกันด้วยภูเขาและแม่น้ำ”
ท่านหานจื้อเฉียง กล่าวถึงภูมิศาสตร์สำคัญของไทย-จีนที่แฝงไปด้วยความผูกพันผ่านสายน้ำ แม่น้ำคือจุดเริ่มต้นและเป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรมของมนุษย์ โดยแม่น้ำล้านช้าง-แม่โขง คือแม่น้ำสายสำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีต้นกำเนิดมาจากที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต ไหลลงมายังมณฑลยูนนาน ผ่านตอนเหนือของประเทศไทย ก่อนจะเป็นแม่น้ำสายใหญ่อย่างแม่น้ำโขง ตามภูมิศาสตร์นั้น มณฑลยูนนานอยู่ห่างจากจังหวัดเชียงรายเพียงแค่ 120 กิโลเมตรเท่านั้น คงมิผิดหากจะกล่าวว่า เราทั้งสองประเทศ “ดื่มน้ำจากแม่น้ำสายเดียวกัน” จึงทำให้ชาวไทยและชาวจีนมีความผูกพันกันแต่กำเนิด ซึ่งสายสัมพันธ์นี้จะยังคงอยู่ตลอดไป
“ไทย-จีน ใกล้ชิดดุจเครือญาติ..เสมือนร่วมสายเลือดเดียวกัน”
ในปัจจุบันเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่าประเทศไทยมีจำนวนประชากรมากกว่า 67 ล้านคน และยังมีคำกล่าวว่า ประชากรไทยกว่า 10 ล้านคนมีบรรพบุรุษมาจากจีน ซึ่งตลอดเวลากว่า 50 ปีนับจากการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตนั้น ประเทศไทยและจีนได้มีความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งในด้านภัยพิบัติจากธรรมชาติ หรือวิกฤตเศรษฐกิจ ไทย-จีนต่างร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกันมาเสมอ แม้ว่าจะมีเหตุมาจากปัจจัยจำนวนมาก แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้นั้น เป็นเพราะเราสองต่างมีความผูกพันทางสายเลือด มีความใกล้ชิดดุจเครือญาติ เสมือนร่วมสายเลือดเดียวกัน
“ไทย-จีน หุ้นส่วนที่ดี..และมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจสำคัญต่อกัน”
หากย้อนกลับไปช่วงทศวรรษ 2520 อันเป็นยุคเริ่มต้นการปฏิรูปและเปิดประเทศของจีนนั้น ผู้ประกอบการไทยคือผู้ลงทุนยุคบุกเบิกกลุ่มแรกที่ลงทุนในจีน คงมิผิดหากจะกล่าวว่า ทุนไทยมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนความทันสมัยของประเทศจีน ทั้งนี้ ในปัจจุบันประเทศจีนคือคู่ค้าสำคัญรายใหญ่ของไทยมาเป็นเวลากว่า 11 ปี โดยมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งในขณะที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับการส่งออกสินค้าเกษตรนั้น สินค้าเกษตรของไทยจำนวนกว่า 40% ได้เข้าสู่ตลาดจีน นอกจากนี้ อัตราการเติบโตของการลงทุนจากประเทศจีนยังมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม EV พลังงานทดแทน เศรษฐกิจ 5G รวมถึงภาคการท่องเที่ยว ซึ่งทางรัฐบาลไทยคาดการว่าภายในปี พ.ศ. 2567 นี้ จะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางมาประเทศไทยกว่า 8 ล้านคน และจะสร้างรายได้กว่า 320,000 ล้านบาท
“ไทย-จีนยุคสมัยใหม่ : ยุคสมัยแห่งประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน”
เมื่อพลวัตพาโลกเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ท่านสีจิ้นผิง (China’s President Xi Jinping) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเองก็มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันกับประเทศไทย โดยท่านหานจื้อเฉียงได้เผยให้เห็นถึงโอกาสใหม่ของการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน และการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่อไปในอนาคตไว้ 4 ประการด้วยกัน กล่าวคือ
ประการที่หนึ่ง จีนเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ขนาดเศรษฐกิจของจีนมีมูลค่าสูงถึง 18 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลาดผู้บริโภคภายในประเทศมีมูลค่าสูงถึง 6.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่า 5% ในทุกปี ดังนั้น ประเทศจีนในฐานะที่เป็นตลาดใหญ่และเป็นประเทศการผลิตขนาดใหญ่ ย่อมสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยได้ด้วย
ประการที่สอง ตามสถิติของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI : The Board of Investment of Thailand) แสดงให้เห็นว่าในปี พ.ศ. 2566 นั้น การลงทุนของจีนที่มีต่อไทยได้เติบโตขึ้นกว่า 109% บริษัทเอกชนของจีนต่างให้ความสนใจลงทุนในประเทศไทย และในไตรมาสแรกของปี พ.ศ. 2567 นั้น ทางรัฐบาลจีนได้ประกาศว่า การลงทุนของจีนในประเทศไทยได้เติบโตขึ้นเป็น 199%
ประการที่สาม ประเทศจีนตั้งใจจะขยายโครงข่ายการคมนาคม ซึ่งมีเป้าหมายทำให้ประเทศไทยเป็น Hub ของการคมนาคมในภูมิภาค
ประการที่สี่ ความร่วมมือระดับภูมิภาคแบบบูรณาการ เช่น การขอวีซ่า 1 ประเทศ สามารถเดินทางได้ 6 ประเทศ ซึ่งจะสร้างประโยชน์ในมิติต่างๆ ร่วมกันได้เป็นอย่างมาก
ท่านหานจื้อเฉียงยังทิ้งท้ายถึงผู้ร่วมอบรมฯ ว่า ผู้อบรมทุกท่านต่างมีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำทางธุรกิจ และจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน
“ข้าพเจ้าหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านจะประสบความสำเร็จในธุรกิจ ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นเจ้าหน้าที่ของสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย หากทุกท่านต้องการการสนับสนุนต่อไป สถานเอกอัครราชทูตฯ มีความยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือ และแสดงบทบาทเสมือนสะพานให้ทุกท่านดำเนินความร่วมมือกับบริษัทจีน ฉันพี่น้อง”
ท่านหานจื้อเฉียงกล่าว.