ท่านวิบูลย์ คูสกุล อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน ให้เกียรติมาบรรยายพิเศษในหัวข้อ “แง่คิดความสัมพันธ์ไทย-จีน จากมุมมองของอดีตทูตไทย” แก่ผู้อบรมหลักสูตร China Business Leader หรือ CBL ในวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2567 ณ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดยท่านวิบูลย์เริ่มต้นด้วยการชี้ให้เห็น ถึงมิติทางยุทธศาสตร์ ความมั่นคงทางการเมือง และนโยบายทางการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นมิติที่อิงอยู่กับผลประโยชน์ร่วมบางประการในระดับรัฐ แม้ว่าสิ่งเหล่านี้อาจเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพการณ์ของภูมิรัฐศาสตร์ ยุคสมัย หรือความจำเป็นตามเหตุผลและความมั่นคง ทว่าจีน-ไทยยังคงมี “สายสัมพันธ์ฉันพี่น้อง” อันเป็นต้นทุนเดิมที่สองประเทศดำเนินควบคู่มาด้วยเสมอในระดับปัจเจก โดยทั้ง 2 มิติดังกล่าวได้ส่งเสริมกันจนเกิดเป็นความเกื้อกูลทางเศรษฐกิจของเหล่านักธุรกิจทั้งจีนและไทย
ท่านวิบูลย์ยังมองว่า ทั้งหมดทั้งปวงที่กล่าวมาได้พาให้ความร่วมมือของจีน-ไทยดำเนินมาถึงจุดที่น่าพอใจ และถึงแก่เวลาอันสมควรที่ทั้งสองประเทศจะมองหาลู่ทางด้านอื่นเพิ่มเติม เพื่อใช้เป็นปัจจัยเชื่อมโยงผลประโยชน์ร่วมกันให้มีมากและยั่งยืนยิ่งขึ้น
จุดแข็งอย่างหนึ่งของเมืองไทยที่ควรถูกหยิบยกขึ้นมานำเสนอ อันเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากมิติความมั่นคงและมิติทางการเมือง คือ มิติในด้านของ ศิลปะวัฒนธรรม อาหาร ผลไม้ มวยไทย หรือภาพยนตร์ เป็นต้น เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าอย่างจริงจังและสร้างผลประโยชน์ร่วมมือกับจีนอย่างยั่งยืน โดยทุกคนสามารถนำเสนออัตลักษณ์ของตนผ่านสื่อสังคมและช่องทางการสื่อสารที่ทะลุถึงกันและกันได้
“Silk Road ทางอากาศเกิดขึ้นแล้ว..เหลือเพียงการนำเสนอเท่านั้น”
พลังของ Silk Road ตามแบบฉบับนั้น หาใช่เพียงการนำพาผู้คนและสินค้าออกสู่ดินแดนอื่น ทว่ายังแฝงไปด้วยมิติด้านวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ทรงพลังเป็นอย่างมาก ขณะที่การเคลื่อนที่ทางวัฒนธรรมในปัจจุบันนั้น มิใช่การคมนาคม แต่มีวิถีอยู่ในอินเทอร์เน็ต โดยแฝงอยู่ในสินค้า ข้อมูลข่าวสาร และความสัมพันธ์ของผู้คน ซึ่งอาจเปรียบได้ว่าเป็น ’Silk Road ทางอากาศ‘
จึงพอจะสรุปได้ว่า Silk Road ที่มุ่งตรงสู่จีน อย่าง Weibo และ Wechat รวมถึง platform ดิจิทัลทางธุรกิจการค้าอื่นๆ กำลังกลายเป็นสิ่งที่มีผลสะท้อนถึงความสัมพันธ์ไทย-จีนในทุกด้านอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อมองลึกไปอีกขั้น ประชากรจีนโดยส่วนใหญ่ที่ใช้สื่อสังคมและ platform ดิจิทัลทางธุรกิจ ซึ่งเป็นชนชั้นกลางรุ่นใหม่ จึงถือเป็นอนาคตของความสัมพันธ์ไทย-จีน นี่คือโจทย์ใหม่อันท้าทาย ที่เราจะต้องมองหาหนทางการสร้างความผูกพันร่วมกันในทุกมิติอย่างยั่งยืน และยังเป็นผลประโยชน์ระดับรัฐในลักษณะ “Win-Win” อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ท่านวิบูลย์ยังย้ำว่า สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของการทำธุรกิจกับชาวจีน คือ ความตระหนักรู้เรื่อง “Do and Don’t” ถึงสิ่งที่ชาวจีนยึดถือปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นขนบธรรมเนียมตามวัฒนธรรมและประเพณี หรือค่านิยมต่างๆ เช่น การใช้ตะเกียบรับประทานอาหารด้วยวิธีที่ถูกต้อง, การหลีกเลี่ยงพูดถึงประเด็นที่อ่อนไหว, การไม่มอบสินค้าต้องห้ามเป็นของขวัญ อย่างเช่น สุราจีน (Moutai) เพราะเป็นสินค้าที่ชาวจีนมองว่าฟุ่มเฟือย ก็นับเป็นเรื่องเล็กที่สำคัญยิ่ง
ทั้งนี้ การจะเจาะลึกเข้าตลาดจีนได้นั้น นอกเหนือจากเรื่องทั่วไปที่เราต้องมีองค์ความรู้เบื้องต้น อย่างช่องทางการส่งออกสินค้าไปขาย การตั้งชื่อสินค้าเป็นภาษาจีนที่มีความหมายมงคล, เราควรตั้งโจทย์ทางธุรกิจให้เรียบง่าย และเข้าใจเป้าหมายของเราอย่างถ่องแท้ เช่น เราอาจเปลี่ยนจากการไปลงทุนในจีน เป็นการหาวิธีดึงชาวจีนเข้ามาซื้อสินค้าและบริการในบ้านเราก็เป็นได้
“หากคนจีนชอบอะไรแล้ว ไม่ว่าเราจะอยู่ในรัฐบาลชุดไหน คนจีนก็ยังคงจะชอบต่อไป”
ท่านวิบูลย์ยังมอบหลักคิดทิ้งท้ายว่า ชาวจีนมีความชื่นชอบเมืองไทยและชื่นชมสินค้าไทยเป็นอย่างมาก สินค้าจากไทยเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมในหมู่ชาวจีนอยู่เสมอ อย่างคนจีนที่ชอบกินทุเรียน ชอบวัฒนธรรม สถานที่เที่ยว หรืออาหารไทย ก็จะยังคงชอบอยู่ดี ความชื่นชอบเหล่านี้ สามารถก่อตัวเป็นผลประโยชน์ร่วมอันสำคัญ ที่จะทำให้ไทย-จีนผูกพันกันยาวนานในอนาคตได้ ซึ่งในมิตินี้ ประเทศไทยมีความได้เปรียบเหนือกว่าทุกประเทศในอาเซียน
“นโยบายภาครัฐอาจเปลี่ยนได้ตามรัฐบาลที่เปลี่ยนไป แต่ความชื่นชอบในอัตลักษณ์และวัฒนธรรมไทยจะไม่เปลี่ยนแปลง”
ท่านวิบูลย์กล่าวเพื่อเน้นย้ำว่า การเชื่อมโยงกันของสองประเทศผ่าน การทำธุรกิจ มีนัยยะสำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากเพียงใด