”ขี่ช้างจับมังกร“ สูตรลับดักนักท่องเที่ยวจีน

 

ดร.ปณิชา ประทีปะวณิช ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์ Social Media China, CMO บริษัท เค อินโนเวชั่น จำกัด และบริษัทในเครือ ให้เกียรติมาบรรยายพิเศษแก่ผู้อบรมหลักสูตร China Business Leader หรือ CBL รุ่นที่ 1 ในหัวข้อ “ขี่ช้างจับมังกร” เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2567 ณ Phenix Food Wholesale Hub

 

จากประสบการณ์ด้านการตลาด ดร.ปณิชา มีความเห็นว่า ประเทศไทยได้คะแนนนิยมจากคนจีนสูง และเหตุที่ไทยเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวจีน ส่วนหนึ่งก็เพราะเป็นประเทศที่สามารถผลิต content ออนไลน์ได้มากมาย ตัวอย่างที่ชัดที่สุดคือไทยเป็นประเทศแห่ง Street Food ที่ผู้มาเยือนสามารถทานอาหารได้ไม่ซ้ำกันเลยสักมื้อใน 7 วัน และอีกแง่มุมที่เราอาจนึกไม่ถึง คือเป็นประเทศที่ “มาแต่ตัวได้” เพราะของทุกอย่างสามารถหาซื้อได้ในมินิมาร์ท

 

นักท่องเที่ยวชอบช็อปปิ้งสินค้าไทยทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภค โดยสถานที่ที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในหมู่คนจีน ได้แก่ Central World, Big C ราชดำริ, MBK Center, ย่านสยาม, Iconsiam, Terminal 21 รวมถึงตลาดนัดกลางคืน อย่าง ถนนบรรทัดทอง และตลาดจอร์จแฟร์

 

 

“อยู่ในที่ที่คนจีนไป และให้คนจีนทำการตลาดแทน”

 

นักท่องเที่ยวจีนเป็นผู้ที่มีความจริงจังในการรีวิว บอกต่อ สิ่งที่ตนเองกิน หรือลองใช้แล้วชอบ เช่นเมื่อได้ร้านอาหารที่ชอบก็จะถ่ายรูปปักพร้อมหมุดให้เสร็จสรรพ ไม่เว้นกระทั่งร้านรถเข็น แต่ถ้าหากเป็นร้านที่มีป้ายกำกับ ป้ายแนะนำ มีรางวัลการันตี ประเภท ตราสถานีหรือรายการโทรทัศน์ แม่ช้อยนางรำ, เชลล์ชวนชิม, Michelin Star, Michelin Guide รวมถึงภาพถ่ายที่พอจับเค้าได้ว่ามีคนดังมานั่งกินแล้วล่ะก็ คนจีนจะเชื่อโดยดุษฎี ว่าร้านแบบนี้อร่อยจริง จนต้องโชว์ และแชร์ 

 

ไม่ใช่แค่เพราะสินค้าไทยซื้อง่ายราคาดี  แต่นักท่องเที่ยวจีนยังมีความเชื่อในสินค้าไทยในแง่บวก จากเรื่องราวหรือความเชื่อที่เคยได้ยินต่อๆ กันมาจนแพร่หลายในหมู่คนจีน เช่น เชื่อว่า เครื่องสำอางไทยเป็นของที่มีคุณภาพดีอย่างแน่นอน เพราะแม้แต่ กะเทยไทยยังมีผิวขาวใสกันทั้งนั้น จึงเชื่อได้ว่าเครื่องสำอางที่ไทยทำย่อมสามารถทำให้ผิวของผู้ชายสวยเนียนเหมือนกับผิวผู้หญิงได้..ดร.ปณิชา บอกเราเช่นนั้น

 

“หนึ่งคนบอกต่อ ร้อยคนตามรอย :  ทำอย่างไรให้คนจีนพูดถึง?”

 

อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ เบื้องลึกของพฤติกรรมนักท่องเที่ยวจีน และที่มาของความเชื่อและความนิยมในสินค้าไทย ดร.ปณิชา ชี้ว่า โดยส่วนใหญ่แล้ว นักท่องเที่ยวจีนมักตามรอยการรีวิวที่ปรากฏใน application สัญชาติจีนต่างๆ  ซึ่งจำนวนไม่น้อยที่มี fuction เดียวกันกับ application ที่คนไทยใช้กัน 

 

Xiaohongshu – แพลตฟอร์มสายรีวิว บิวตี้ แฟชั่น ของกิน ท่องเที่ยว

Weibo – โซเชียลมีเดียอันดับหนึ่งของจีน มีฟีเจอร์ที่คล้ายๆ Facebook และ Twitter รวมกัน

Douyin หรือTik Tok – รวมไอดอลหนุ่มสาวหน้าตาดี แบ่งปันไลฟ์สไตล์ ด้วย Viral Clip สั้นๆ

Baidu – Search engine อันดับหนึ่งของจีน

Wechat – โปรแกรมแชทสุดฮิตในจีน สามารถจ่ายเงินซื้อของผ่านแอปได้ด้วย

Mafengwo – ค้นหาตั๋วเครื่องบิน ที่พัก และแลนด์มาร์คสำคัญ ไม่ต้องพึ่งไกด์นำทาง

C-Trip – จองตั๋วเครื่องบินทั้งในไทยและต่างประเทศ ซื้อตั๋วรถไฟ เช่ารถยนต์ คลิกจอง กดจ่ายได้ทันที
Sohu – เว็บรวมข่าวสาร จำแนกตามประเภท และสามารถสร้าง Blog ของตัวเองได้

DianPing – อยากดูรีวิวท่องเที่ยวประเทศไหนก็สะดวก พร้อมฟีเจอร์จับ Location สะดวกต่อการค้นหาที่พัก ร้านอาหาร

 

แน่นอนว่า หากธุรกิจใดสามารถหาที่ยืนในเนื้อหาบนแอพเหล่านี้อย่างเหมาะสม หาวิธีให้สินค้าหรือบริการไปอยู่ในการพูดถึง-หรือบอกต่อของคนจีนในพื้นที่เหล่านี้ได้ล่ะก็ รอความสำเร็จได้เลย

 

 

ทั้งนี้ ดร.ปณิชา ได้เปิดเผย “สูตรลับ 7 ข้อ” ที่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนในไทย ตามรอยมาซื้อสินค้าและบริการ สรุปความได้ดังนี้

 

  1. Research

ทำการบ้าน มองหาจุดวางสินค้าให้ถูกต้อง และต้องมีแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เหมาะสมกับเนื้อหาที่สินค้าจะถูกเล่าต่อ

 

  1. StoryTelling – New Demand

มองหาช่องโหว่เช่นสินค้าและบริการที่คนจีนไม่สามารถหาได้ในประเทศจีน หรือต่อยอดจากสิ่งที่คนจีนเชื่อว่าไทยถนัด พร้อมนำเสนอเรื่องราวที่ก่อให้เกิดความเชื่อเพิ่มขึ้น และมั่นใจเพิ่มขึ้นต่อเราในฐานะผู้สร้างอุปทาน เพื่อให้เกิดอุปสงค์แบบต่อเนื่อง

 

  1. Influencer

ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสม หากธุรกิจมีงบการตลาดมากก็ควรเลือกใช้ KOL แต่ในทางกลับกัน หากมีงบการตลาดน้อยก็ควรเลือกใช้ KOC

 

  1. Content

การสร้าง content บ่อยๆ จะประหยัดเงินและได้ผลมากกว่าการทุ่มงบโฆษณาราคาแพง และเพื่อสร้างภาพจำที่ดี ควรหาวิธีให้ผู้ที่ใช้ application ต่างๆ ได้เห็นการรีวิวสินค้าเป็นประจำ เมื่อนักท่องเที่ยวมีข้อมูลเหล่านี้ในใจ ก็จะเกิดการตามรอยสินค้า รีวิว และเรียกคนมาตามรอยได้อีกอย่างต่อเนื่อง

 

  1. ตามกระแสสังคม

หมั่นตามกระแสและเทรนด์ทางสังคมที่เกิดขึ้นและเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การติดตามแฮชแท็กต่างๆ

 

  1. สร้างภาพ

เพื่อให้นักท่องเที่ยวเกิดความเข้าใจว่า ต้องซื้อสินค้ากลับไปทีละเยอะๆ จึงจะคุ้มค่ากว่าการสั่งซื้อภายหลัง ซึ่งอาจต้องมีการทำโปรโมชัน หรือผลิตเนื้อหาเพื่อสื่อถึงเรื่องนี้

 

  1. Testimonial

คำรับรองความพึงพอใจจากผู้ใช้งานจริงเป็นสิ่งสำคัญต่อคนจีนมากโดยเฉพาะนักท่องเที่ยว เพื่อโฆษณาและสร้างความเชื่อมั่น ว่าพวกเขาจะได้ในสิ่งที่คาดหวังจากการซื้อสินค้าหรือบริการ เนื่องจากได้เห็นตัวอย่างจากผลตอบรับจากผู้ซื้อจริง ใช้จริง หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง

 

 

หลังการบรรยาย “สูตรลับ 7 ข้อ” แล้ว

ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2567 ดร.ปณิชา ได้จัดกิจกรรม Workshop ให้กับผู้อบรม CBL รุ่น 1 อย่างต่อเนื่องอีกครั้ง โดย ดร.ปณิชา ได้ให้คำปรึกษากับผู้เรียนที่เป็นนักธุรกิจ 3 กลุ่ม คือ

 

1) เจ้าของธุรกิจที่มีสินค้าวางขายอยู่ใน destination place แล้ว เช่น 7/11, Kingpower, BigC, Gourmet, Eveandboy เป็นต้น

2) เจ้าของธุรกิจบริการ เช่น สปา โรงแรม คลินิก ร้านค้า ร้านอาหาร คาเฟ่ เป็นต้น

3) เจ้าของธุรกิจประเภทอื่น ที่สนใจเข้าร่วม

 

 

สิ่งสำคัญที่ ดร.ปณิชา เน้นย้ำว่าต้องทำเพื่อดึงดูดการซื้อจากคนจีน มีดังนี้

– กำหนดเป้าหมายของแบรนด์ จุดแข็ง และ target ของผู้บริโภคอย่างชัดเจน 

– ยิงแอดโฆษณาโดยเลือกใช้คำที่เหมาะสม 

– ดึงนักท่องเที่ยวด้วยการทำ content ที่น่าสนใจ เช่น “ตามรอยสินค้า..”, “shopping ร้านลับของคนไทย” เป็นต้น

– ใช้ influencer เพื่อรีวิวสินค้า

– จดลิขสิทธิ์ให้ถูกต้อง เพื่อป้องกันการลอกเลียน

– สร้าง package ให้โดดเด่น แตกต่างจากสินค้าประเภทเดียวกัน

– เจ้าของกิจการอาจไม่ต้องลงทุนเปิด shop เอง แต่สามารถตั้ง shop in shop ได้ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย

– สร้างภาพจำว่าเป็นร้านที่ “ขายส่ง” ด้วย เพื่อให้เกิดความเชื่อว่าสินค้ามีราคาที่ดีที่สุด

– นำสินค้าไปเสนอในสื่อที่โดดเด่น เช่นสำนักข่าวจีนในประเทศไทย หรือเว็บไซต์สินค้าจีน

 

 

สิ่งหนึ่งที่ ดร.ปณิชา ทำให้ฉุกคิด คืออาจไม่ใช่คนจีนทุกมณฑลที่จะรู้จักและตอบรับสินค้าไทย เนื่องจากแผ่นดินจีนนั้นกว้างใหญ่ไพศาลจนคนจีนบางถิ่นฐาน อาจไม่ได้เคยมีประสบการณ์ร่วมกับเรา แต่หากมองด้านกลับ ก็นับว่ามีที่ว่างทางธุรกิจมากมายให้เราเข้าไปช่วงชิงเช่นกัน นับเป็นประเด็นที่ตอกย้ำว่า การตลาดที่สร้างเรื่องราว ความเชื่อ และความต้องการใหม่ขึ้นมานั้น สำคัญเพียงใด

 

อย่างไรก็ตาม แม้จะอิงตามที่ ดร.ปณิชากล่าว  ก็ยังปฏิเสธไม่ได้ว่า คนจีนทุกกลุ่มกำลังขยับฐานะทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และกำลังมีกำลังซื้อมากขึ้นเรื่อยๆ ไปพร้อมกับแพลตฟอร์มออนไลน์ใหม่ๆ ไม่เพียงเท่านั้น ตัวเลขการท่องเที่ยวที่ประมาณกันไว้..ปีนี้ คนจีนมาเยือนไทยถึง 35 ล้านคนแน่นอน