ดร.ปณิชา ประทีปะวณิช ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์ Social Media China, CMO บริษัท เค อินโนเวชั่น จำกัด และบริษัทในเครือ ให้เกียรติมาบรรยายพิเศษแก่ผู้อบรมหลักสูตร China Business Leader ในหัวข้อ “ขี่ช้างจับมังกร : 21 เคล็ดลับ คว้าใจนักท่องเที่ยวจีน”
กลยุทธ์ที่ 1 : Check Direct Flight ระหว่าง China – Thailand
ข้อมูลจากการบินพลเรือนจีนระบุว่า ไฟลท์บินระหว่างไทย-จีนมีจำนวนมากขึ้น พร้อมกับการเริ่มต้นฟรีวีซ่าอย่างเป็นทางการ การรู้จักเส้นทางบินตรงที่เชื่อมเมืองใหญ่ในจีนกับจุดหมายปลายทางในไทย จะช่วยเราปรับกลยุทธ์การตลาดได้ดีขึ้น และสามารถโปรโมทสินค้าหรือบริการที่ตรงกับนักท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กลยุทธ์ที่ 2 : เข้าใจพฤติกรรมนักท่องเที่ยวจีนจากแต่ละมณฑล
การรู้จักความชอบของนักท่องเที่ยวจีนจากแต่ละมณฑลจะช่วยให้ธุรกิจเข้าถึงลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น เช่น
- Shandong จะชอบน้ำผลไม้และน้ำมะพร้าว เนื่องจากวัฒนธรรมการทานอาหารรสหวาน และประเทศไทยมีผลไม้หลากหลาย
- Guangdong นิยมซื้อผลไม้อบแห้ง เพราะวัฒนธรรมท้องถิ่นชอบทานผลไม้
- Kunming ชอบซื้อปลาหมึก เนื่องจากเมืองไม่ติดทะเล
การเข้าใจความชอบเหล่านี้จะช่วยในการปรับกลยุทธ์การตลาดให้ตรงใจนักท่องเที่ยวมากขึ้น
กลยุทธ์ที่ 3 : Route Tour
เข้าใจเส้นทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวจีน
เช่น พระบรมมหาราชวัง, วัดพระแก้ว, ดรีมเวิลด์, และหมู่บ้านช้างเชียงใหม่
การทำความเข้าใจเส้นทางเหล่านี้จะทำให้เราตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงปรับกลยุทธ์การตลาดให้ตรงใจ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนให้มากขึ้น
กลยุทธ์ที่ 4 : Route FIT (Free Individual Traveler)
ศึกษาเส้นทางของนักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยตนเอง ไม่ได้ไปเป็นกลุ่มหรือทัวร์ พวกเขามีความยืดหยุ่นในการวางแผน และเลือกเส้นทางท่องเที่ยวตามความสนใจส่วนตัว เช่น Central World, Big C ราชดำริ, ย่านสยาม, Icon Siam, และบรรทัดทอง เป็นต้น
กลยุทธ์ที่ 5 : Sale Channel
เลือกช่องทางการขายที่่เหมาะสม โดยแบ่งเป็น 2 ช่องทางหลักคือ
- Online เช่น เว็บไซต์, E-Commerce, Social Media Platform ซึ่งช่วยให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้กว้างขวาง
- Offline คือการวางขายหน้าร้านค้าหรือตัวแทนจำหน่าย ซึ่งยังคงมีความสำคัญในการสร้างประสบการณ์การซื้อที่ตรงไปตรงมา เช่น 7/11, EVEANBOY, Big C, BEAUTRIUM เป็นต้น
กลยุทธ์ที่ 6 : คำศัพท์เฉพาะภาษาจีน
ตรวจสอบว่าสินค้าและส่วนผสมของเรามีคำศัพท์ภาษาจีนหรือไม่ เป็นสิ่งสำคัญมากที่เราต้องใช้คำศัพท์จีนที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันความสับสน หากไม่มีคำศัพท์นั้น ก็ควรสร้างคำใหม่เพื่อการตลาดที่ดียิ่งขึ้น!
กลยุทธ์ที่ 7 : ศึกษาคู่แข่งในจีน
ด้วยการรวบรวมข้อมูลเพื่อพัฒนาสินค้า ทั้งข้อมูลจากรายงานการตลาด, สถิติการขาย, และความคิดเห็นของลูกค้า รวมถึงการศึกษาคู่แข่งในจีน ซึ่งจะช่วยให้เราเห็นความแตกต่างและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งขึ้น ที่สำคัญ “ต้องทำสินค้า ที่คนจีนคิดว่าเราถนัด”
กลยุทธ์ที่ 8 : ศึกษาคู่แข่งต่างประเทศในจีน
คนจีนไม่ได้ซื้อเฉพาะสินค้าจากไทย แต่ยังเลือกสินค้าจากไต้หวัน, เกาหลี, และญี่ปุ่นด้วย เช่น ถ้าเสิร์ชใน Xiaohongsu จะเห็นว่ายาหยอดตาเทียมจากญี่ปุ่นมาเป็นอันดับแรก ดังนั้น สินค้าไหนที่คนจีนคิดว่าเราไม่ถนัด อย่าทำดีกว่า!
กลยุทธ์ที่ 9 : คู่แข่งจากไทย ในสื่อของจีน
เช็คดูว่ามีคู่แข่งจากไทยในสื่อจีนหรือไม่? เราต้องรู้จักคู่แข่งของเรา และวางแผนทำยังไงให้เหนือกว่า ที่สำคัญ ต้องเน้นทำการตลาดแข่งใน social media ของจีน
กลยุทธ์ที่ 10 : สินค้า Global Brand
สินค้าบางอย่างในไทยขายถูก แต่ในจีนขายแพง เช่น Wocaol ที่จีนจะแพงมาก
กลยุทธ์ที่เราควรทำคือ ให้นักท่องเที่ยวจีนเห็นว่า เมื่อมาเมืองไทย ต้องซื้อชุดชั้นในไทยกลับไป! เพราะประเทศไทยเป็นเมืองร้อนที่คนจีนรู้จักดี เราจึงมีการพัฒนาเส้นใยที่ทำให้ใส่แล้วรู้สึกเย็นสบายในหน้าร้อน และยังใส่สบายในหน้าหนาวด้วย
กลยุทธ์ที่ 11 : บริการที่ผิดกฎหมายในไทย แต่ถูกกฎหมายในไทย
สินค้าและบริการที่ยังไม่ถูกกฎหมายในจีน แต่ที่ไทยทำได้ ไม่มีปัญหา เช่น การฉีด NAD, Melatonin, กัญชา, และการตรวจเพศเด็กการอัลตร้าซาวด์เด็ก เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยดึงดูดให้ผู้บริโภคในจีนต้องบินมาที่ไทยเพื่อใช้สินค้าและบริการของเรา
กลยุทธ์ที่ 12 : Xiaohongshu (Little Red Book)
ใช้ social media เพื่อสร้างแบรนด์และสื่อสารกับผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยให้เราเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายและรวดเร็ว Xiaohongshu จะเป็น platform เน้นการแชร์ประสบการณ์การใช้ผลิตภัณฑ์และบริการ ผู้ใช้สามารถโพสต์รีวิวสินค้าและบริการ ซึ่งช่วยสร้างความน่าเชื่อถือและแรงบันดาลใจให้กับผู้บริโภคให้มาอุดหนุนได้
กลยุทธ์ที่ 13 : Douyin (TikTok)
เป็น platform วิดีโอสั้นที่ได้รับความนิยมอย่างมากในจีน โดยการสร้างคอนเทนต์ที่น่าสนใจและสร้างสรรค์สามารถดึงดูดผู้ชมและสร้างการมีส่วนร่วมได้สูง
กลยุทธ์ที่ 14 : Weibo
เป็น platform ที่คล้ายกับ Twitter ซึ่งเหมาะสำหรับการแจ้งข่าวสารและการสื่อสารแบบเรียลไทม์ การใช้ Weibo จะช่วยให้เราเข้าถึงข่าวสารและความคิดเห็นของผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว
กลยุทธ์ที่ 15 : Wechat
เป็น application ที่รวมฟังก์ชันการสื่อสาร การชำระเงิน และการตลาดดิจิทัล โดยเราสามารถสร้าง Official Account เพื่อสื่อสารกับลูกค้าและส่งข้อมูลโปรโมชั่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กลยุทธ์ที่ 16 : Dazhongdianping
เป็น platform รีวิว แนะนำร้านอาหารและบริการต่างๆ ซึ่งการมีรีวิวที่ดีจากผู้ใช้จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและดึงดูดลูกค้าใหม่ได้
กลยุทธ์ที่ 17 : KOL (Key Opinion Leader)
KOL คือผู้มีอิทธิพลที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ และสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคผ่านเนื้อหาที่พวกเขาสร้างขึ้น การเลือก KOL ที่เหมาะกับสินค้าจะช่วยเพิ่ม Brand Awareness ทำให้แบรนด์มีความน่าเชื่อถือ และทำให้เราเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าเดิม
กลยุทธ์ที่ 18 : KOC (Key Opinion Costumers)
KOC คือผู้บริโภคทั่วไปที่มีอิทธิพลในกลุ่มเพื่อน โดยแบ่งปันประสบการณ์การใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการ ความคิดเห็นของพวกเขามักน่าเชื่อถือมากกว่าการโฆษณาแบบดั้งเดิม การเลือกใช้ KOC จะช่วยเพิ่มความไว้วางใจในแบรนด์ และสร้างการมีส่วนร่วมจากผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น
กลยุทธ์ที่ 19 : Programmatic Advertising
เป็นเครื่องมือสำคัญในการทำการตลาดดิจิทัล ช่วยให้การซื้อขายโฆษณามีประสิทธิภาพและเป็นไปอย่างอัตโนมัติ โดยใช้เทคโนโลยีในการกำหนดเป้าหมายและวิเคราะห์ผลลัพธ์ แต่ควรเลือก platform การโฆษณาที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย เช่น social media, เว็บไซต์ หรือ app ที่กลุ่มเป้าหมายใช้งานบ่อยๆ!
กลยุทธ์ที่ 20 : การใช้ Hashtags เกาะกระแส
การใช้ # ที่เป็นที่นิยมช่วยเพิ่มการมองเห็นและการเข้าถึงของโพสต์ ยิ่งการใช้ # แบบเกาะกระแสปัจจุบัน จะยิ่งช่วยในการโปรโมตสินค้า เช่น #bkpp ที่มียอดเข้าชมกว่า 160 ล้านครั้ง, #butterbear 70 ล้านครั้ง, และ #xiaohwma หมูเด้ง 12 ล้านครั้ง แม้สินค้าเราจะไม่เกี่ยวข้อง แต่สุดท้ายลูกค้าก็จะเชื่อมโยงกับ Storytelling ได้เอง
กลยุทธ์ที่ 21 : ทำอย่างสม่ำเสมอ
หากเราใช้กลยุทธ์ 20 ข้อข้างต้นอย่างสม่ำเสมอ ทำเรื่อยๆ และทำเป็นประจำ จะช่วยสร้างความสำเร็จได้ในระยะยาว การมีวินัยและความมุ่งมั่นจะทำให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายได้จริง!